รากสามสิบ

รากสามสิบ ชื่อสามัญ Shatavari

รากสามสิบ ชื่อวิทยาศาสตร์ Asparagus racemosus Willd. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Protasparagus racemosus (Willd.) Oberm.) จัดอยู่ในวงศ์หน่อไม้ฝรั่ง (ASPARAGACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อย ASPARAGOIDEAE[4]

สมุนไพรรากสามสิบ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า สามร้อยราก (กาญจนบุรี), ผักหนาม (นครราชสีมา), ผักชีช้าง (หนองคาย), จ๋วงเครือ (ภาคเหนือ), เตอสีเบาะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), พอควายเมะ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่), ชีช้าง, ผักชีช้าง, จั่นดิน, ม้าสามต๋อนสามสิบว่านรากสามสิบว่านสามสิบว่านสามร้อยรากสามร้อยผัวสาวร้อยผัวศตาวรี เป็นต้น

สรรพคุณของรากสามสิบ

  1. รากสามสิบมีรสเฝื่อนเย็น มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำลัง ใช้เป็นยาชูกำลัง (ราก)
  2. ตำรายาไทยจะใช้รากเป็นยาแก้กระษัย (ราก)
  3. ในประเทศอินเดียจะใช้รากเป็นยากระตุ้นประสาท (ราก)
  4. รากใช้ผสมกับเหง้าขิงป่าและต้นจันทน์แดง ผสมกับเหล้าโรงใช้เป็นยาแก้วิงเวียน (ราก)
  5. รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาลดความดันโลหิตและลดไขมันในเลือด (ราก)
  6. รากสามสิบมีสรรพคุณช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด โดยไปกระตุ้นการทำงานของตับอ่อนให้เพิ่มการหลั่งสาร insulin (ราก)
  7. ทั้งต้นหรือรากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยารักษาโรคคอพอก (ราก,ทั้งต้น)
  8. ผลมีรสเย็น ใช้ปรุงเป็นยาแก้พิษไข้เซื่องซึม แก้พิษไข้กลับไข้ซ้ำ มักใช้ร่วมกับผลราชดัด เพื่อเป็นยาดับพิษไข้จากบิดเรื้อรัง (ผล)
  9. รากมีรสเฝื่อนเย็น ใช้กินเป็นยาแก้พิษร้อนในกระหายน้ำ (ราก)
  10. รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไอ (ราก)
  11. ช่วยขับเสมหะ[4] แก้การติดเชื้อที่หลอดลม (ราก)
  12. รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาช่วยขับลม และช่วยลดกรดในกระเพาะอาหาร (ราก)
  13. ใช้รักษาโรคเกี่ยวกับลำไส้ แก้อาการอาหารไม่ย่อย รักษาแผลในกระเพาะอาหาร โรคกระเพาะ (ราก)
  14. รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการท้องเสีย แก้บิด (ราก)
  15. ใบมีสรรพคุณเป็นยาระบาย (ใบ)
  16. ตำรายาสมุนไพรพื้นบ้านของจังหวัดอุบลราชธานีจะใช้รากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ริดสีดวงทวาร (ราก)
  17. รากมีสรรพคุณเป็นยาแก้ขัดเบา ขับปัสสาวะ ช่วยหล่อลื่นและกระตุ้น (ราก)
  18. ช่วยรักษาอาการประจำเดือนผิดปกติของสตรี (ราก)
  19. ทั้งต้นหรือรากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ตกเลือด (ราก,ทั้งต้น)
  20. ในอินเดียจะใช้รากสามสิบเป็นยากระตุ้นสมรรถภาพทางเพศทั้งชายและหญิง คนทางภาคเหนือบ้านเราจะใช้รากสามสิบทำเป็นยาดอง ใช้กินเป็นยาบำรุงสำหรับเพศชาย กินแล้วคึกคักเหมือนม้า 3 ตัว จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า “ม้าสามต๋อน” ส่วนหมอยาโบราณจะใช้เป็นยาบำรุงสำหรับสตรี ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ “สาวร้อยผัว” หรือ “สามร้อยผัว” กล่าวคือไม่ว่าจะอายุเท่าใดก็ยังสามารถมีลูกมีผัวได้ อายุเท่าไหร่ก็ยังดูสาวเสมอ แต่ไม่ใช่กินแล้วจะสามารถมีผัวได้เป็นร้อยคน ในตำราอายุรเวทจะใช้สมุนไพรชนิดนี้เป็นสมุนไพรหลักในการบำรุงสตรี ทำให้กลับมาเป็นสาว ช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ของสตรี ไม่ว่าจะเป็นภาวะประจำเดือนไม่ปกติ ภาวะหมดประจำเดือน ปวดประจำเดือน ตกขาว มีบุตรยาก หมดอารมณ์ทางเพศ ช่วยบำรุงครรภ์ บำรุงน้ำนม ป้องกันการแท้ง ฯลฯ ส่วนวิธีการใช้ก็ให้นำรากมาต้มกิน หรือนำรากมาตากแห้งแล้วบดเป็นผงปั้นเป็นลูกกลอนกินกับน้ำผึ้ง นอกจากนี้ยังใช้กระตุ้นน้ำนมในวัวนมได้อีกด้วย (ราก)
  21. ใช้เป็นยาบำรุงตับและปอดให้เกิดกำลังเป็นปกติ แก้ตับและปอดพิการ (ราก)
  22. รากใช้ฝนทาแก้พิษจากแมลงป่องกัดต่อย (ราก)
  23. รากใช้ฝนทาแก้อาการปวดฝี ทำให้เย็น ช่วยถอนพิษฝี พิษปวดแสบปวดร้อน (ราก)
  24. ช่วยบรรเทาอาการระคายเคือง (ราก)
  25. รากใช้กินเป็นยาแก้อาการปวดเมื่อย ครั่นตัว (ราก)
  26. ช่วยแก้อาการปวดข้อและคอ (ราก)
  27. ใบมีสรรพคุณช่วยขับน้ำนม ช่วยทำให้เจริญอาหาร (ใบ)
  28. รากใช้เป็นยาบำรุงเด็กทารกในครรภ์ บำรุงน้ำนม บำรุงร่างกายหลังการคลอดบุตรของสตรี (ราก)
  29. ใน “พระคัมภีร์สรรพคุณ (แลมหาพิกัด)” ได้กล่าวถึงสรรพคุณของรากสามสิบไว้ว่า “ผักหวานตัวผู้มีรสหวาน แก้กำเดา แก้จักษุโรค รากสามสิบทั้ง 2 มีคุณยิ่งกว่าผักหวาน” กำเดาหรือไข้กำเดา มีอยู่ 2 ชนิด อย่างแรก คือ ตัวร้อน เบื่ออาหาร ปวดศีรษะ และอีกอย่างหนึ่ง คือ มีอาการรุนแรงมากกว่า มีเม็ดผุดขึ้นตามร่างกาย มีอาการคัน ไอ มีเสมหะ และมีเลือดออกทางปากและจมูก (ราก)
  30. ส่วนในหนังสือ “พระคัมภีร์เวชศาสตร์สงเคราะห์” ได้กล่าวถึงตำรับยารักษาคนธาตุหย่อน อันมีตัวยารากสามสิบรวมอยู่ด้วยร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ อีกหลายชนิด โดยระบุว่ามีสรรพคุณ (ที่ค่อนข้างจะเข้าใจยาก) ว่าช่วยจำเริญชีวิตรให้เกิดกำลัง ให้บำรุงธาตุไฟ ให้จำเริญอินทรีย์แต่ละอย่าง มีกำลังมากต่างกัน กินเข้าไปแล้วหาโทษมิได้ ใช้ได้ทั้งเด็ก คนแก่ คนมีกำลัง คนผอม คนไม่มีกำลัง คนธาตุหย่อน ให้ประกอบยานี้กันเถิด อนึ่ง กินแล้วให้บังเกิดบุตร ให้อกตอแค่นแขงทั้ง 4 มีกำลัง ถึงกระหักก็ดี แพทย์ก็นับถือรักษาด้วยยานี้เถิด (ราก)